จำได้ไหม คุณเรียนมานะ มานี รุ่นไหน? มาย้อนรำลึกถึงวัยเด็กอันแสนหวานไปกับแบบเรียนภาษาไทย ที่มีตัวละคร มานี มานะ และผองเพื่อน ซึ่งเป็นผลงานคลาสสิคจากปลายปากกาของ อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ (ผู้ล่วงลับในวัย 82 ปี) ที่ได้สรรสร้างผูกเรื่องราวของกลุ่มเด็กชนบทชวนให้ติดตาม จนหลงรักทุกตัวละคร ทำให้เด็กหลายคนมีนิสัยรักการอ่านโดยไม่รู้ตัว
ประวัติ มานะ มานี ปิติ ชูใจ
ก่อนจะมาเป็น มานะ มานี ปิติ ชูใจ เคยมีคนเรียกบทเรียนนี้ว่า “ตำนานเด็กดี” มาก่อน เนื่องจากตอนที่อาจารย์รัชนี (ผู้เขียน) ได้เขียนหลักสูตรบทเรียนนี้ขึ้นมา ยังไม่เคยตั้งชื่อมาก่อน ทำให้มีคนเรียกว่าตำนานเด็กดี ก่อนจะเปลี่ยนเป็น มานะ มานี ฯ และใช้บรรจุในหลักสูตรการศึกษาอย่างเป็นทางการ
อาจารย์รัชนี้ใช้เวลาเขียนชุดแบบเรียนภาษาไทยชุดนี้นานกว่า 4 ปีเต็ม รวมทั้งสิ้น 12 เล่ม สำหรับใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยระดับประถมศึกษาในชั้นประถมปีที่ 1-6 โดยมีจุดประสงค์ให้นักเรียนรู้สึกสนุก เนื้อเรื่องชวนติดตาม ทำให้เด็ก ๆ ติดใจจนอยากเรียนภาษาไทย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ภาษาเขียนที่ถูกต้องและสุภาพ เนื้อหาดี มีความบริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษภัย และได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละชั้นปีการศึกษา
นอกจากนี้ยังได้นักวาดการ์ตูนระดับตำนานถึง 3 ท่าน ประกอบไปด้วย คุณเตรียม ชาชุมพร , คุณโอม รัชเวทย์ และ คุณปฐม พัวพิมล ได้ช่วยเสกสรรตัวละครให้กลายเป็นภาพวาดที่มีชีวิตชีวา สดใส สวยงาม ช่วยดึงดูดความสนใจและสื่อถึงอารมณ์ของตัวละครให้เด็ก ๆ ได้เข้าใจง่ายขึ้น
ส่วนใหญ่เราจำได้แต่ชื่อตัวละคร มานี มานะ ปิติ ฯลฯ แต่ที่จริงแล้วทุกตัวละครมีนามสกุลด้วย และเคยปรากฏอยู่ในเรื่องด้วย เช่น มานะ และ มานี รักเผ่าไทย , ปิติ พิทักษ์ถิ่น , วีระ ประสงค์สุข , ชูใจ เลิศล้ำ และ ดวงแก้ว ใจหวัง
เนื้อเรื่องในบทเรียน ตัวละครต่าง ๆ ล้วนมีเอกลักษณ์ประจำตัว และมีบทบาทที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- มานะ เป็นเด็กเรียนดี มีสุนัขชื่อ เจ้าโต และเป็นตัวละครแรกในเรื่องที่ได้ไปเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาที่กรุงเทพฯ
- มานี มีนกแก้วเป็นสัตว์เลี้ยง ได้เป็นรองประธานนักเรียนตอนป.6 ก่อนจะตามมานะไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เมื่อจบป.6
- ปิติ ถูกสลากรางวัลออมสินเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท และนำเงินส่วนนี้ไปซื้อลูกม้าตัวใหม่ให้ชื่อว่า “เจ้านิล” แทน “เจ้าแก่” ที่ตายไป
- วีระ เป็นเด็กกำพร้า อาศัยอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด เพราะพ่อเป็นทหารตายในสนามรบ และแม่ตรอมใจตายตาม หลังจากคลอดวีระได้เพียง 15 วัน และมีลิงชื่อ เจ้าจ๋อ
- ชูใจ มีแมวชื่อ สีเทา อาศัยอยู่กับย่าและอามาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ชูใจอายุ 1 ขวบ และแม่ไปอยู่ต่างประเทศ แต่ชูใจไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับพ่อแม่เลย แต่ในตอนท้ายของแบบเรียน ได้พูดถึงแม่ของชูใจบินมารับชูใจไปอยู่ด้วย แต่ชูใจเลือกที่จะอยู่กับย่าที่เลี้ยงตนมาตั้งแต่เด็ก ก่อนจะย้ายไปอยู่กับแม่ที่ต่างประเทศ หลังจากที่ย่าเสียชีวิตลง
- เพชร เด็กยากจนมีบ้านเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ช่วยเหลือเพื่อนที่ถูกงูกัด
- สมคิด นักเรียนรุ่นพี่ที่เรียนจบป.6 ไปแล้ว
- ดวงแก้ว นักเรียนคนหนึ่งที่มีบ้านเกิดอยู่จังหวัดสุพรรณบุรี
- จันทร เด็กหญิงพิการขาลีบ ได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลง “ความฝันอันสูงสุด” และ อ่านทำนองเสนาะหน้าพระพักต์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนได้รับมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ให้แพทย์หลวงรับตัวไปรักษาและผ่าตัดขาที่กรุงเทพจนหายเป็นปกติ
หนังสือเรียน มานะ มานี สิ้นสุดในยุคไหน
ตารางเทียบรุ่นแบบการเรียนภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษา (ป.1 – ป.6) ชุด หลักสูตรมานี มานะ รุ่นสุดท้าย
ระหว่างปี พ.ศ.2521 – พ.ศ.2537
กระทรวงศึกษาธิการเริ่มปรับเปลี่ยนหลักสูตร มานี มานะ ไปใช้หลักสูตร แก้วกับกล้า เมื่อปีการศึกษา 2535 (ตรงกับเด็กที่เกิด พ.ศ. 2528 และมีอายุครบ 7 ปี ที่ต้องเรียนหลักสูตรใหม่ในปี 2535 คือ แก้วกับกล้า แทน มานะ มานี) แต่โรงเรียนเอกชนบางแห่งยังคงใช้หลักสูตรมานี มานะ ต่อไป โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรแก้วกับกล้า ตามการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงศึกษาฯ
สำหรับรุ่นสุดท้ายที่ได้เรียนหลักสูตร มานี มานะ ฉบับสมบูรณ์ รุ่นสุดท้าย คือ คนที่เกิดใน พ.ศ.2530 และเข้าเรียน ป.1ตอนอายุ 7 ขวบตามเกณฑ์ ในปี 2537 และเรียนไปจนจบ ป.6 ใน พ.ศ.2543
หลังจากที่หลักสูตรมานี มานะ ถูกยกเลิกใช้ในปี 2537 ถัดมาให้หลังอีก 8 ปี ทางนิตยสารอะเดย์ ได้นำตัวละคร มานี มานะ ปิติ ชูใจ มาปัดฝุ่นใหม่ รีเมคเป็นพ็อกเกตบุ๊กชื่อ “ทางช้างเผือก” ซึ่งได้รับความสนใจและการต้อนรับอย่างล้นหลาม หนังสือขายดีจนต้องเพิ่มเนื้อหาให้มีอิทธิฤทธิ์และปฏิหาริย์ เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจ และมีการเพิ่มตัวละครใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมทัพให้ตัวละครที่มีอยู่เดิมโดดเด่นมากขึ้น
แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านล่วงเลยไป แต่ความทรงจำอันวัยเยาว์ที่น่าจดจำยังคงอยู่ จนกว่าเราจะพบกันใหม่บนทางช้างเผือก