Site icon แบรนด์ ฟอร์ ทาเลนท์ – เว็บไซต์รวบรวม บทความ ข่าวสาร ความรู้ สุขภาพ อาหาร การออกกำลังกาย สถานที่เที่ยว และความบันเทิง

“ตุ่นปากยาว” สัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เคยถูกเข้าใจว่าสูญพันธุ์ไปจากโลก

หลังจากที่เพจเฟซบุค มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร ได้โพสต์ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นการประกาศข่าวดีถึงการค้นพบสัตว์ที่คาดว่าสูญหายไปจากโลกนี้แล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 ทำให้หลายคนไม่เคยได้ยิน ไม่เคยพบเห็น และไม่เคยรู้จักว่าตุ่นปากยาวคือสัตว์ประเภทใด 

ตุ่นปากยาว มีลักษณะคล้ายเม่น จมูกเหมือนตัวกินมด เท้าเหมือนตัวตุ่น เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กลุ่ม Monotremes คือ กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่วางไข่ ซึ่งมีวิวัฒนาการแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ตุ่นปากยาวชื่อภาษาอังกฤษ เรียกว่า Attenborough (แอตเทนโบโรห์) โดยเรียกตามชื่อของนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ David Attenborough ซึ่งเป็นผู้พบเจอสัตว์ชนิดนี้ครั้งสุดท้าย เมื่อปี ค.ศ.1961 ก่อนที่จะไม่มีใครพบเจอมันอีก จนนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเชื่อว่า ตุ่นปากยาวได้สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้แล้ว 

จนกระทั่ง เจมส์ เคมป์ตัน (James Kempton)  หนึ่งในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้พบภาพตุ่นปากยาวตัวหนึ่งเดินผ่านตัดกล้อง จากกล้องติดตามเส้นทางสัตว์ป่าที่ติดตั้งไว้ถึง 80 ตัว เพื่อให้ครอบคลุมบริเวณเทือกเขาไวคล็อปส์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงด้วยกัน ทั้งนักธรรมชาติวิทยา นักอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ รวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ที่เคยยืนยันถึงการสูญพันธุ์ของตุ่นปากยาว และถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่ได้พบสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 62 ปี แต่ในขณะเดียวกัน การค้นพบในครั้งนี้ก็สร้างความหวั่นวิตกให้กับทุกฝ่าย เพราะถึงแม้องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ IUCN ได้จัดสถานะตัวตุ่นปากยาว เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่บริเวณที่ค้นพบตุ่นปากยาวคือในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งไม่มีกฏหมายคุ้มครองสัตว์อย่างจริงจัง อาจทำให้พวกมันต้องกลายเป็นสัตว์สูญพันธุ์ไปจากโลกอย่างถาวร 

เคมป์ตัน ได้กล่าวว่า “มันคือตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพบนเทือกเขาไซคล็อปส์ จึงเป็นเหตุผลที่พวกเราควรอนุรักษ์พวกตุ่นปากยาว รวมถึงถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมันด้วย ซึ่งเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ ดังนั้น อย่าให้ผืนป่าหายไปโดยเด็ดขาด” จากที่เคยถูกเข้าใจว่าตุ่นปากยาวได้สูญสิ้นไปแล้ว ที่จริงพวกมันอาจไม่ได้สูญพันธุ์ไปแต่อย่างใด เพียงแต่คอยหลบซ่อนตัวในป่าลึก ไม่ให้ใครพบเห็น  เพื่อความปลอดภัย และรักษาเผ่าพันธุ์ของพวกมัน

การอนุรักษ์ป่าไม้ ไม่ทำลายป่า การช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และไม่ตามล่าหรือไปรบกวนพวกมัน นับว่าเป็นการช่วยอนุรักษ์เผ่าพันธุ์ตุ่นปากยาว รวมไปถึงสัตว์ป่าอื่น ๆ ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากโลก เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับทุกคน และยังเป็นการฟื้นฟูโลกอย่างยั่งยืนอีกด้วย

Exit mobile version