เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม และทุกคนย่อมมีความแตกต่างทั้งด้านความคิด พฤติกรรม และบุคลิกภาพ ดังนั้น เมื่อจะสมาคมหรือเข้าต้องอยู่ร่วมกันในสังคม นอกจากจะต้องมีกฏ กติกา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยแล้ว ยังต้องมี “มารยาท” เพื่อเป็นการให้เกียรติผู้อื่น และยังเป็นการให้เกียรติต่อตนเองอีกด้วย
การมีมารยาทสำคัญต่อการอยู่กันในสังคม เพราะเป็นการแสดงถึงการให้เกียรติกัน ให้ความความเคารพต่อกัน แต่คนไทยยุคใหม่ในปัจจุบัน มักจะชอบทำอะไรแบบง่าย ๆ ถือเอาความสะดวกสบายของตน จนกลายเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาโดยไร้มารยาทอย่างไม่ตั้งใจ
มารยาทคืออะไร
มารยาททางสังคม หมายถึง พฤติกรรมที่บุคคลพึงมีและปฏิบัติในสังคม ประกอบไปด้วย วาจา กิริยา สุภาพเรียบร้อย เหมาะสมตามกาลเทศะ ซึ่งบุคลิกภาพของตัวบุคคลจะบ่งบอกว่าคน ๆ นั้น มีสัมมาคารวะ ความสุภาพ อ่อนน้อม และระเบียบวินัยมากน้อยเพียงใด
มารยาททางสังคมมีกี่ประเภท
ประเภทของมารยาท แบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
มารยาททั่วไป
1. การแต่งกายให้เหมาะสมกับเวลา สถานที่ เป็นการแสดงออกถึงผู้มีวัฒนธรรม
2. สำรวมวาจา กิริยา ท่าทาง ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น
3. มีความเกรงใจ คือ การรู้จักระวังความรู้สึกของผู้อื่นในเรื่องต่อไปนี้
- การขอความช่วยเหลือ
- การหยิบยืมสิ่งของ
- การโทรศัพท์ไปหาผู้อื่นในเวลาเช้าหรือดึกเกินไป
- การไปเยี่ยมเยือนผู้อื่นในเวลาเช้า หรือ ดึกเกินไป
4. ไม่ถือวิสาสะ คือ การไม่ปฏิบัติในเรื่องต่อไปนี้
- หยิบของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
- เข้าห้องผู้อื่นโดยไม่เคาะประตู
- เมื่อผู้อื่นยื่นโทรศัพท์ให้ดูเนื้อหาส่วนใด ดูแต่ในส่วนนั้น ไม่เลื่อนดูสิ่งอื่นที่เจ้าของไม่ได้อนุญาต
- เข้าบ้านหรือเดินสำรวจบ้านผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
- ไม่เปิดอ่านจดหมาย รวมถึงข้อความทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
5. ให้เกียรติผู้อื่น มี 2 แบบด้วยกัน คือ ให้เกียรติด้วยวาจา และ ให้เกียรติด้วยท่าทาง
ให้เกียรติทางวาจา เช่น
- ไม่พูดดูถูก เยาะเย้ย เหยียดหยาม หรือพูดข่มผู้อื่น
- ไม่พูดเสียงดังหรือตะคอกใส่ผู้อื่น
- ไม่พูดใส่หน้าผู้อื่นจนน้ำลายกระเด็น
- ไม่นินทา หรือพูดล้อเลียน
ให้เกียรติด้วยท่าทาง เช่น
- เมื่อไอ จาม ควรหาผ้าปิดปาก
- ไม่สูบบุหรี่ในห้องแอร์ ในลิฟต์ หรือเมื่อผู้ร่วมกับผู้อื่น
- ไม่หวีผม ตัดเล็บ แคะ แกะ เกา
- ไม่ยกเท้าไว้บนโต๊ะ หรือยกเท้าถีบพนักพิงเก้าอี้ผู้อื่น
- ไม่ยกปลายเท้าชี้แทนมือ
- ไม่ยกขาพาดตักผู้อื่น
- ไม่นั่งกางขา นั่งไขว่ห้าง นั่งโยกเก้าอี้
- ไม่พูดหรือส่งเสียงดัง ขณะที่ผู้อื่นทำงาน
- ไม่กินมูมมาม หรือเคี้ยวเสียงดัง เมื่อทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
6. กล่าวคำ “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” ให้ติดเป็นนิสัย แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
7. ไม่สั่งพร่ำเพรื่อ หรือ ไม่พูดเพ้อเจ้อ คือ ไม่พูดออกนอกเรื่อง หรือพูดนอกประเด็นสำคัญ และไม่สั่งย้ำ ๆ
8. อ่อนน้อมถ่อมตน คือ การไม่เย่อหยิ่ง จองหอง แต่มีความสุภาพต่อทุกคน และไม่ถือตนกับผู้ที่อ่อนวัยหรือผู้ที่ยศตำแหน่งด้อยกว่า
9. มีความเคารพ รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่ การยกมือไหว้ ทักทาย ไม่ต่อปากต่อคำหรือเถียงผู้ใหญ่ แต่ให้แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลในกรณีที่ความคิดต่างกับผู้สูงวัยกว่า ใช้คำพูดและแสดงท่าทางด้วยความเคารพ
มารยาทตามกาลเทศะ
1. การนั่ง มี 2 แบบ ได้แก่
- การนั่งแบบธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการนั่งต่อหน้าผู้อื่น หรือนั่งในการประชุม ผู้ชาย : กรณีนั่งเก้าอี้มีพนักพิง ให้นั่งตามสบาย เอนหลังแต่พองาม เหยียดขา ไม่ไขว่ห้าง ไม่กระดิกเท้า หรือขยับขาไปมา ผู้หญิง : ควรนั่งเข่าชิดเข้าหากัน ไม่นั่งไขว่ห้าง กรณีนุ่งกระโปรงสั้น ควรนั่งอย่างระมัดระวัง หรือหาผ้าปิด ไม่แคะ แกะ เกา สะกิดหรือคุยกับผู้อื่น แต่ควรตั้งใจฟังผู้ที่กำลังบรรยายในที่ประชุม
- การนั่งต่อหน้าผู้ใหญ่ ควรนั่งตัวตรง น้อมตัวลงเล็กน้อย ไม่เอนหลังพิงพนักเก้าอี้ ตั้งใจฟังขณะที่ผู้ใหญ่พูด แต่ไม่ควรจ้องหน้าตลอดเวลา
2. การยืน มี 2 แบบ ได้แก่
- การยืนแบบธรรมดา คือ ยืนโดยให้ส้นเท้าชิด ปลายเท้าแยกเล็กน้อย ปล่อยตัวตามสบาย ห้อยแขนแนบลำตัว ตามองตรง ไม่ยืนล้วงกระเป๋า ไม่ยืนกอดอก
- การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ คือ ยืนตัวตรงเท้าชิด ศีรษะก้มลงเล็กน้อย สองมือประสานไว้ข้างหน้า แสดงความนอบน้อม ไม่ยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ และไม่ยืนจ้องหน้าผู้ใหญ่
3.การเดิน มี 4 แบบ ได้แก่
- เดินแบบธรรมดา ไม่ควรเดินเรียงหน้ากระดานขวางทางผู้อื่น ไม่เดินไปกระโดดไป ไม่เดินช้าหรือเร็วไป ไม่เดินก้มหน้า และเดินแกว่งแขนแต่พองาม
- เดินกับผู้ใหญ่ ไม่ควรเดินนำหน้าผู้ใหญ่ (ยกเว้นต้องเป็นคนนำทาง) แต่ควรเดินเยื้องด้านข้าง หรือ เดินเยื้องทางด้านหลัง
- เดินสวนทาง หากสวนทางกับผู้ใหญ่ ควรก้มตัวเมื่อเดินผ่าน ถ้าเป็นทางแคบเราควรหยุดเดินและให้ผู้ใหญ่เดินไปก่อน หากผู้ใหญ่นั่งอยู่ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น หรือคลานเข่า แต่ถ้าไม่สะดวกในการคลานเข่า ให้ก้มตัวให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ขณะที่เดินผ่าน ส่วนการเดินสวนทางกับเพื่อนหรือผู้อื่น ควรเดินชิดซ้าย
- เดินเข้าในที่ประชุม หากมีประธานนั่งอยู่ในประชุม ควรทำความเคารพก่อนจะเดินเข้า – ออก ที่ประชุม หากต้องเดินผ่านคนที่นั่งอยู่ ควรเดิมอ้อมหลัง แต่ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านด้านหนัง ควรเดินก้มตัวลงเล็กน้อยเพื่อแสดงความอ่อนน้อม และถ้ามีผู้ใหญ่ที่คุ้นเคยอยู่ในที่ประชุม ควรยกมือไหว้ทักทาย
ผู้ที่มีมารยาท บ่งบอกถึงผู้มีวัฒนธรรมและเจริญแล้วด้วยสติปัญญา อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติแก่ผู้อื่น และยังเป็นการให้เกียรติตนเองอีกด้วย ซึ่งในยุคปัจจุบันนั้นนับว่าผู้คนเริ่มมีมารยาทสังคมกันน้อยลง เป็นที่น่าเสียดาย เพราะการมีมารยาท จะช่วยเสริมเสน่ห์ให้ตัวบุคคล และเสริมสร้างสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเริ่มจากที่บ้านด้วยการอบรมเพาะบ่มมารยาทที่ดีงามให้กับบุตรหลาน ให้เป็นพฤติกรรมจนกลายเป็นนิสัยที่ดีเพื่อนำไปใช้เมื่อต้องอยู่ร่วมกับสังคม