ทุกคนน่าจะเคยไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์กันอย่างน้อยก็คนละที่ แต่ทุกๆ ที่จะมีคอนเซ็ปต์ หรือแนวคิดแบบเดียวกัน นั่นก็คือเป็นสถานที่เก็บโบราณวัตถุต่างๆ ที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม แต่ถ้าจะให้พูดตามตรง คอนเซ็ปต์แรกเริ่มของพิพิธภัณฑ์ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อเหตุผลนั้น แต่มันจะเป็นอะไรได้ล่ะ? มาลองย้อนประวัติศาสตร์กัน
พิพิธภัณฑ์ แปลว่าอะไร?
พิพิธ แปลว่า หลากหลาย ส่วน ภัณฑ์ แปลว่า สิ่งของ ดังนั้นความหมายโดยแรกเริ่มของพิพิธภัณฑ์ก็คือ สถานที่ที่มีความหลากหลายทางด้านสิ่งของ ซึ่งในอดีต พิพิภัณฑ์ เป็นเหมือนสถานที่จัดงานและแสดงสินค้าเสียมากกว่า
ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 พิพิธภัณฑ์ ไม่ได้เป็นความหมายของคำว่า “Museum” เพราะในสมัยนั้นมีการใช้การทับศัพท์ว่า “มิวเซียม” โดยตรง แต่ในช่วงนั้น พิพิธภัณฑ์ จะใช้ในการเรียกงานจัดแสดงสินค้านานาชาติ หรือ Internation Exhibition หรืองาน Expo นั่นเอง ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ลักษณะงานเช่นนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักในสยาม แต่สยามก็พยายามส่งสิ่งของไปแสดงในงานดังกล่าวด้วย
เพราะงาน Expo เป็นเหมือนงานที่แสดงเพื่อโอ้อวดความเป็นอารยะของแต่ละชนชาติผ่านสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ในช่วงเวลานั้นที่เป็นเหมือนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นว่าเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน
สยามได้มีการส่งสินค้าไปแสดงครั้งแรกในปี 2405 ที่ประเทศอังกฤษ และอีกครั้งในปี 2410 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งจะทำให้สยามเป็นที่รู้จักในสังคมโลกมากขึ้น และแสดงความเป็นอารยะในโลกตะวันตก
จุดเริ่มต้นพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บโบราณวัตถุในประเทศไทย
ในช่วงประมาณปี 2415 พระที่นั่งประพาส ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งเป็นสถานที่เก็บสิ่งของส่วนพระองค์และเครื่องบรรณาการที่ได้รับมาจากต่างประเทศ นั้นเกิดทรุดโทรม จึงได้มีการบูรณะ รื้อสร้างใหม่ในหลายๆ ส่วน สิ่งของทั้งหลายจึงถูกโยกย้ายไปยังสถานที่อื่นๆ ในพระบรมมหาราชวัง แต่ยังไม่มีการเปิดให้ประชาชนได้เข้าดู
ต่อมาในสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้มีคำสั่งให้ย้ายสิ่งของต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในวัง ให้มารวมอยู่ด้วยกันในที่เดียวที่หอคอยคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคมในปัจจุบัน และจัดตั้งนิทรรศการชั่วคราว และตั้งชื่อนิทรรศการดังกล่าวว่า “ตั้งมิวเซียม (มิวเซียมสยามปัจจุบัน)” เมื่อปี 2471 และนับเป็นครั้งแรกในสยามที่มีการนำสิ่งของมาจัดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชม (Public Museum) เนื่องในวาระงานเฉลิมพระชนมพรรษา 20 กันยายน พ.:ศ. 2417 และได้ยึดเอาวันที่ 19 กันยายนเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย”
แต่หลังจากที่รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกก็เริ่มเข้าใจคอนเซ็ปต์ของคำว่า “มิวเซียม” มากขึ้น จึงได้ส่งของไปจัดแสดงในต่างประเทศน้อยลง จัดแสดงในประเทศมากขึ้น โดยจัดงานแสดงสิ่งของ ประกวดสิ่งของต่างๆ ในบริเวณวัดเบญจมพิตร และโปรดเกล้าให้งานดังกล่าวจัดขึ้นทุกปี
กว่าที่คำว่า Museum ในภาษาอังกฤษ จะถูกแปลว่าพิพิธภัณฑ์ และทำให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกันว่าพิพิธภัณฑ์คือสถานที่เก็บวัตุโบราณ ก็ล่วงเข้าสู่ช่วงปลายรัชกาลที่ 6 หรือต้นรัชกาลที่ 7 แล้ว
สรุป
พิพิธภัณฑ์ ความหมายแรกเริ่มเดิมก็คือสถานที่จัดการแสดงแสดงความหลากหลายของสินค้า หรือสิ่งของเพื่อแสดงสัญญะทางอารยะ และยังไม่ใช่ความหมายโดยตรงของคำว่า Meseum อีกด้วย เพราะในต่างชาติสถานที่จัดงานแสดงสินค้า และ มิวเซียม คือคนละประเภท แต่สำหรับสยาม ได้มีการรวมทั้ง 2 ความหมายเข้าด้วยกัน จนล่วงในช่วง 100 ปีหลังมานี้ที่เราเริ่มแยกพิพิพิธภัณฑ์จากงานแสดงสินค้า