ใกล้ถึงวันสำคัญของลูกหลานแดนมังกร และพี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนอีกแล้ว วันที่จะได้ระลึกและแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้อาหารคาวหวาน เนื่องในวัน สารทจีน
วันสารทจีน หรือ วันเทศกาลจงเยฺวี๋ยน (Zhongyuan) ซึ่งจะตรงกับเดือน 7 ตามปฏิทินจีนโบราณ และเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้ดวงวิญญาณทั้งหลายได้มารับบุญกุศล ดังนั้นนอกจากชาวจีนจะไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับแล้ว ยังมีการเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง สัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อน และผีไร้ญาติ เพื่อเป็นการให้ทานและบรรเทาความทุกข์อดอยากแก่วิญญาณทั้งหลาย และได้ยึดถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ชาวจีนในสมัยโบราณจะใช้ขนมไหว้ 5 อย่างด้วยกัน เรียกว่า “โหงวเปี้ย” หรือเรียกเป็นชุดว่า “ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี” ซึ่งจะประกอบไปด้วย (ปัง) ขนมทึงปัง (เปี้ย) ขนมหนึงเปี้ย หรือ อิ่วก้วย (หมี่) ขนมหมี่เท้า (มั่ว) ขนมทึกกี่ และ (กี) ขนมทึงกี ในขณะที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะใช้ขนมเทียน ขนมเข่ง โดยมีหลักของไหว้คือ อาหารคาว อาหารหวาน ชนิดละ 3 – 5 อย่าง และผลไม้ โดยอาหารที่นำมาไหว้มักจะเลือกที่มีความหมายเป็นมงคล
อาหารที่มีความหมายมงคลในวันไหว้สารทจีน
ปลา หมายถึง มีกินมีใช้
กุ้ง หมายถึง โชคลาภ
ไก่ หมายถึง ความก้าวหน้า
เป็ด หมายถึง ความสมบูรณ์
หมู หมายถึง มีกินมีใช้
ขนมเข่ง หมายถึง ความราบรื่น
ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่น
ขนมเปี๊ยะ หมายถึง ครอบครัวสามัคคี
ขนมปุยฝ้าย หมายถึง เงินทองเพิ่มพูน
ขนมถ้วยฟู หมายถึง ความรุ่งเรือง
ขนมถั่วตัด หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
ส้ม หมายถึง ความโชคดี
สาลี่ หมายถึง ความสำเร็จ
แอปเปิล หมายถึง ความร่มเย็น
องุ่น หมายถึง อายุยืน ความเจริญงอกงาม
กล้วย หมายถึง ลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
การไหว้ในเทศกาลสารทจีนจะแบ่งชุดไหว้เป็น 3 ชุด
1. สำหรับไหว้เจ้าที่ โดยจะทำการไหว้ในตอนเช้า และควรจะให้เสร็จสิ้นก่อนเที่ยง ซึ่งของที่ไหว้ก็จะเป็นอาหารคาว อาหารหวาน ผลไม้ น้ำชา หรือเหล้าจีน กระดาษเงิน กระดาษทอง
2. สำหรับไหว้บรรพบุรุษ โดยของไหว้ก็จะเป็นอาหารคาวหวาน ขนม และผลไม้ต่างๆ ที่บรรพบุรุษชอบเป็นพิเศษ หรือเป็นชุดอาหารที่คล้ายกับของไหว้เจ้าที่ด้วยก็ได้ แต่ห้ามขาดขนมเทียน ขนมเข่ง ชามข้าวสวยและชุดน้ำชาตามจำนวนบรรพบุรุษ กระดาษ กระดาษทอง
3. สำหรับเซ่นไหว้สัมภเวสี วิญญาณเร่ร่อนไร้ญาติ โดยนำอาหารที่เซ่นไหว้ ไปตั้งเซ่นนอกบ้าน ซึ่งมีทั้งอาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ น้ำชา เหล้า กระดาษเงิน กระดาษทอง จัดตั้งไว้ให้เป็นชุด
จัดโต๊ะไหว้บรรพบุรุษอย่างไรให้ถูกต้อง
1. วางกระถางธูปไว้ด้านหน้าแท่นบูชา
2. วางแจกันพร้อมดอกไม้ไว้ขนาบด้านซ้ายและขวาของกระถาธูป
3. วางข้าวสวยพร้อมตะเกียบ (ตามจำนวนบรรพบุรุษ) ถัดจากแท่นบูชา
4. วางถ้วยน้ำชาและเหล้า ถัดจากถ้วยข้าวสวย
5. วางขนมมงคลถัดจากแถวน้ำชาและเหล้า
6. วางอาหารคาว ถัดมา
7. วางผลไม้มงคลไว้ระดับเดียวกับข้าวสวย ให้ถัดไปทางขวามือ
8. วางกระดาษเงิน กระดาษทอง ไว้ระดับเดียวกับน้ำชาและเหล้า ให้ถัดไปทางขวามือ
ข้อห้ามในวันสารทจีน
เนื่องจากวันสารทจีนยังเป็นวันที่ประตูนรกเปิดออก ความเชื่อของคนจีนจึงมีข้อห้ามบางอย่างที่ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้พบเจอแต่โชคร้ายตลอดทั้งปี เช่น
1. ห้ามอยู่นอกบ้านในยามวิกาล
2. ห้ามว่ายน้ำในตอนกลางคืน
3. ห้ามเดินทางโดยไม่จำเป็น
4. ห้ามแต่งงานในเดือนนี้
5. ห้ามเริ่มทำธุรกิจใดๆ
6. ห้ามซื้อบ้านหรือย้ายบ้าน
7. ห้ามเริ่มก่อสร้างใดๆ
เมื่อเสร็จสิ้นจากพิธีไหว้ ลูกหลานจะต้องกินของไหว้บรรพบุรุษให้หมด โดยห้ามแบ่งคนอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ส่วนของเซ่นไหว้สัมภเวสีสามารถนำไปแจกจ่ายให้คนอื่นได้ แต่สำหรับบางคนที่รู้สึกตะขิดตะขวงใจในการที่จะนำของเซ่นวิญญาณไปให้คนอื่นกินต่อ ก็อาจนำไปให้ทานแก่สัตว์จรจัดเพื่อให้เกิดประโยชน์ และเก็บกวาดขยะเศษอาหารให้สะอาดเรียบร้อย เพียงเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสรรพกิจกรรมในวันสารทจีน