Site icon แบรนด์ ฟอร์ ทาเลนท์ – เว็บไซต์รวบรวม บทความ ข่าวสาร ความรู้ สุขภาพ อาหาร การออกกำลังกาย สถานที่เที่ยว และความบันเทิง

เรากำลังเป็น Shopaholic เสพติดการช้อปปิง จนบ้านรกไม่มีที่เก็บของอยู่หรือเปล่า 

Young Asian business entrepreneur stress in online business, failure woman with working problem. SME entrepreneur and Online selling concept.

ใครที่ชอบช้อปปิ้ง ชนิดแบบหยุดซื้อของไม่ได้ แค่ได้ซื้อก็มีความสุขบ้างเอ่ย อาจต้องลองเช็คกันสักหน่อยแล้วว่าเป็นเพียงแค่ชอบช้อปปิ้ง หรืออาจเข้าข่าย “Shopaholic” กันแน่ 

Shopaholic คืออะไร 

Shopaholic คือ โรคชอบซื้อของ เสพติดการช้อปปิ้ง มีความต้องการซื้อของตลอดเวลา รู้สึกดีและเอ็นจอยทุกครั้งที่ได้เดินดูของ หรือการได้เข้าไปส่องสินค้าทางออนไลน์ และมีความสุขเมื่อได้ซื้อของหรือใช้จ่ายเงิน โดยมักจะหักห้ามใจตัวเองไม่ได้ แต่รู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อของ เริ่มรู้สึกเสียดายกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพราะข้าวของที่ซื้อมาอาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือซื้อมาซ้ำกับที่มีอยู่แล้ว จนทำให้มีข้าวของเต็มบ้าน หาที่เก็บของไม่ได้ จะทิ้งก็เสียดาย จนบางครั้งก็อาจนำพาไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น บ้านรก มีหนี้สินเพิ่ม ทะเลาะกับคนที่ในครอบครัว โกหกกับคนที่บ้าน ทั้งในเรื่องของราคา หรือที่มาของสิ่งของ อย่างได้มาฟรี หรือมีคนให้มา จนต้องคอยหาที่เก็บซ่อนของ เป็นต้น

ใครคือกลุ่มเสี่ยงของการเป็นโรค Shopaholic ได้บ้าง 

Shopaholic สามารถเป็นได้ทุกช่วงวัย โดยไม่กำจัดว่าจะต้องเป็นแต่เพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งหากคำนวณสัดส่วนของกลุ่มช้อปปิ้งในอดีต จะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงมากกว่า แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ผู้ชายก็ชอบช้อปปิ้ง และในกลุ่มผู้ป่วย Shopaholic ก็มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยเลย

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะ Shopaholic มีอะไรบ้าง 

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดช้อปปิ้งเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น มีความเครียดสะสม มีความวิตกกังวล เป็นคนสมาธิสั้น ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือ มีภาวะซึมเศร้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นแรงกระตุ้นความต้องการของคนเราได้ง่ายขึ้น อย่าง ช้อปปิ้งออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม โปรโมชันต่าง ๆ รวมไปถึงช่องทางการสื่อโฆษณาที่สามารถเข้าถึงบุคคลได้ง่ายกว่าเดิม 

สังเกตอย่างไรว่าตนเองและคนรอบข้างเข้าข่ายโรค Shopaholic

สังเกตจากพฤติกรรมการใช้จ่ายว่ามากเกินความจำเป็นหรือไม่ สิ่งของที่ซื้อมาแล้วได้ใช้ประโยชน์ไหม หรือสั่งซื้อมาแล้วแต่ก็ยังอยู่กล่องพัสดุโดยไม่ได้แกะออกมาใช้ อยู่ในกล่องอย่างไรก็อย่างนั้น จนบางครั้งก็ลืมไปแล้วว่าตนได้สั่งซื้อมา หรือสั่งซื้อซ้ำ ๆ ทั้งที่มีอยู่แล้ว และบางชิ้นบางอันก็ยังไม่ได้ใช้เลยด้วยซ้ำ รวมไปถึงการที่ต้องคอยโกหกคนในครอบครัว หรือต้องคอยนำไปแอบซ่อนเวลาที่ซื้อของเข้าบ้าน หรือแม้แต่บ้านรกจนไม่มีที่จะเดิน แต่ก็ยังหยุดช้อปปิ้งไม่ได้ อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกว่าคุณหรือคนรอบข้างกำลังเข้าข่ายของอาการ Shopaholic

ภาวะ Shopaholic ร้ายแรงไหม 

ในทางการแพทย์ ถือว่า Shopaholic คือ ภาวะที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ หรือเป็นโรคทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่โรคร้ายแรงที่สร้างความเจ็บปวด หรือส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพอย่างโรคทั่วไป แต่ปัญหาที่ตามมาของการเสพติดช้อปปิ้ง คือ รายได้ไม่พอต่อค่าใช้จ่าย ทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นภายหลัง หรือส่งผลกระทบต่อจิตใจ มีภาวะความเครียด วิตกกังวลในการหารายได้เพิ่ม จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในอนาคต

ทำอย่างไรเพื่อรับมือกับภาวะ Shopaholic

เมื่อรู้แล้วว่าภาวะ Shopaholic ส่งผลเสียอย่างไร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและหาทางแก้ไขจึงเป็นสิ่งจำเป็น เรามาดูกันดีกว่าว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ไม่หลงกลกับตัวเลข 

การตั้งราคาสินคัาที่ลงท้ายด้วยเลข 9 ในทางจิตวิทยาถือว่า เป็นการใช้กลยุทธ์ราคาที่ช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น เพราะผู้บริโภคจะรู้สึกว่าสินค้าราคาถูกกว่าปกติ เคล็ดลับที่จะช่วยให้ก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านี้ไปได้ คือ การปัดเศษส่วน เช่น หากสินค้าราคา 199 บาท ให้เราปัดราคาขึ้น เป็น 200 บาท ก็จะช่วยให้เราหยุดพิจารณาก่อนที่จะตัดสินใจซื้อได้อย่างรอบคอบมากขึ้น 

เลือกจ่ายในสิ่งที่ Need อย่าซื้อสิ่งที่ Want

เมื่อจะจ่ายเงินทุกครั้ง ให้คำนึงว่าสินค้านั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน (need) หรือเป็นเพียงแค่ความต้องการ (want) ที่ไม่ได้มีความสำคัญหรือจำเป็นต้องใช้ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะแพ้ทางกับส่วนลดหรือโปรโมชันต่าง ๆ ทำให้ซื้อง่าย จ่ายคล่อง โดยไม่ทันได้พิจารณาว่าสิ่งนั้นจำเป็นต่อการใช้งานมากน้อยแค่ไหน 

เลิกใช้บัตรเครดิต จ่ายด้วยเงินสดเท่านั้น 

อีกปัจจัยที่ทำให้เสพติดการช้อปปิง คือ การใช้ง่ายจ่ายคล่องผ่านบัตรเครดิต ยิ่งเดี๋ยวนี้การทำธุรกรรมทางการเงินสะดวกสบาย รวดเร็ว แตะบัตร สแกน QR Code หรือใส่เลขรหัสบัตร เพียงคลิกเดียวก็ได้สินค้าที่ต้องการ โดยเฉพาะส่วนลดจากการจ่ายผ่านบัตร หรือคะแนนสะสมเมมเบอร์บัตร ที่กระตุ้นให้เกิดการใช้บัตร จ่ายเงินไปโดยไม่รู้ตัว แต่การจ่ายด้วยเงินสด จะทำให้เราเห็นจำนวนเงินที่ต้องจ่าย อาจทำให้เกิดรู้สึกเสียดายจนอาจหยุดพิจารณาถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายจนอาจเปลี่ยนใจที่จะไม่ซื้อในที่สุด อีกทั้งการถือเงินสด เราสามารถคำนวณล่วงหน้าในการถือเงินในปริมาณที่จะใช้จ่ายในแต่ละวันได้ ทำให้ช่วยลดการซื้อของที่ไม่จำเป็นลงได้ 

ตั้งงบประมาณการซื้อของในแต่ละเดือน 

จัดสรรงบประมาณ ค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วน การซื้อของในแต่ละประเภท เช่น งบส่วนนี้สำหรับการซื้อของใช้จำเป็น เช่น ข้าวสาร วัตถุดิบอาหาร เครื่องปรุง กระดาษชำระ เป็นต้น ส่วนงบสำหรับของที่อาจไม่จำเป็นมาก เช่น เสื้อผ้า ที่อาจตั้งงบไว้เดือนนี้จะซื้อไม่เกินเท่าไร หรือซื้อได้กี่ตัวต่อเดือน เป็นต้น 

ทบทวนก่อนซื้อ

หลายครั้งที่คนเรามักจะหลงกลจ่ายเงินซื้อของ เพียงเพราะคำว่า ลดราคา หรือ โปรโมชัน ทำให้คิดว่าราคาถูกกว่า โดยเฉพาะสินค้าออนไลน์ ซึ่งอาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป ควรเปรียบเทียบให้ดีก่อน และทบทวนก่อนซื้อว่าสิ่งของเหล่านั้นจำเป็นที่ต้องซื้อหรือไม่ ซื้อแล้วจะนำไปใช้ประโยชน์ด้านใดได้บ้าง หรือเช็กของที่บ้านให้ละเอียดก่อนว่ามีแล้วหรือยัง จะได้ไม่ซื้อซ้ำ จนอาจทำเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น 

อย่างไรก็ตาม หากการเสพติดการช้อปปิ้งของคุณไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตด้านการเงิน เพียงแต่แค่ไม่มีที่เก็บของ หรือพื้นที่เก็บของไม่พอ ก็สามารถจัดการได้ง่าย ๆ ด้วยการเช่าห้องเก็บของ ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการในไทยหลายแห่งด้วยกัน โดยเฉพาะในเมืองหรือย่านธุรกิจ ที่มักจะมีรูปแบบการอาศัยจำกัดพื้นที่ในตึก คอนโด ห้องชุด ห้องเช่า ทำให้สวนทางกับพื้นที่จำเป็นต้องใช้ และพื้นที่ต้องการเก็บของ อันเนื่องมาจากผลของการชอบช้อปปิ้งนั่นเอง 

Exit mobile version