ได้ยินบ่อย ๆ กับประโยคเหล่านี้ “โลกนับวันยิ่งอยู่ยาก” , “โลกป่วย” , “โลกโหดร้าย” และอีกหลายคำที่จะสรรหามาเปรียบ แต่เดี๋ยวนะ … เราลองมาตกตระกอนความคิดกันสักนิด ก่อนที่จะพูดประโยคเหล่านั้นสักหน่อยไหม โลก ทำอะไร? จนทำให้คุณภาพชีวิตมันย่ำแย่ จนต้องไปตราหน้าโลกเช่นนั้น โลก เป็นเพียงพื้นที่กว้างใหญ่ที่มีครบและพร้อมทุกอย่าง ที่เสมือนเป็นเจ้าบ้าน มีเฟอร์นิเจอร์ความสะดวกสบายต่อการมีชีวิตรอด ทั้ง พื้นดินให้อยู่อาศัย เป็นแหล่งกำเนิดอาหารอันอุดมสมบูรณ์ อย่างพืชพรรณทุกชนิด น้ำ และออกซิเจน ครบถ้วนทุกสิ่งสำหรับ “คน” ซึ่งเป็นผู้อาศัยต้องการเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด ลองคิดกลับกันดูว่า คน หรือเปล่า ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้สภาพแวดล้อมและภาพรวมทั้งหมดมันโหดร้ายอย่างที่ไม่ควรจะเป็น?
จำได้ว่าการศึกษาในสมัยก่อน จะมีการปลูกฝังสามัญสำนึกเยาวชนด้วยการบรรจุวิชาจริยธรรมของสถานการศึกษาทุกแห่ง โดยไม่แบ่งแยกว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาลหรือโรงเรียนเอกชน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มี ศีลธรรมและจริยธรรม เพื่อความเป็นคนอันสมบูรณ์ ควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการเพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพประเทศต่อไป
กาลเวลายังคงทำหน้าที่ด้วยการหมุนเวียนไปตามปกติ แต่วิธีการจัดระบบ ระเบียบความคิด และวิถีชีวิตของคนต่างหากที่เปลี่ยนไป มีการพัฒนาทางวิชาการหลากหลาย และเทคโนโลยีก้าวล้ำมากขึ้น แต่ความดีงามของตัวบุคคลกลับหายไป และแทบจะไม่มีการยกขึ้นมาเป็นหัวข้อที่จะต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อกลายเป็นคนคุณภาพอย่างแท้จริง ทั้งในด้านวิชาการ และด้านคุณภาพทางจิตใจ ทำให้หลายคนมักจะนึกถึงแต่ตัวเองมากเกินไป จนไม่สนว่าการกระทำของตนจะสร้างความเดือดร้อนคนอื่นหรือไม่ และการกระทำหลาย ๆ อย่าง ที่มีการลอกเลียนแบบ ทำตามอย่างต้นแบบที่ไม่ดี จนขยายเป็นวงกว้าง ทั้งการเห็นแก่ตัว การใช้ความรุนแรง จนส่งให้ภาพรวมออกมา โลกอยู่ยากขึ้นทุกวัน ทั้งที่โลกก็ทำหน้าที่ของมันอยู่เช่นเดิม คือการหมุนตัวมันเองเท่านั้น แล้วกลับต้องมาถูกตราหน้าว่า โลกโหดร้าย
ถึงเวลาที่เราต้องกลับมาศึกษาวิชาของการเป็น “คน” ที่แท้จริงกันหรือยัง หรือควรจะบรรจุ “วิชาคน” เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างจริงจังก็อาจทำให้โลกใบนี้หลุดพ้นคำครหา โลกป่วย และกลายเป็นโลกที่สดใสน่าอยู่สำหรับทุกชีวิตมากขึ้น วิชาคน ควรบัญญัติไปด้วยอะไรบ้าง หากพร้อมจะเข้าสู่วิชาคนแล้ว เริ่มกันเลย!
บทเรียนที่ 1 เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ถามว่าสมัยนี้ คำว่า ใจเขา ใจเรา มีใครสักกี่คนที่ยังคงคำนึงถึง เพราะด้วยกิจกรรมของคนยุคนี้ที่พร้อมจะทำในสิ่งเพื่อตอบสนองความต้องการ และเพื่อผลประโยชน์ตนเป็นส่วนใหญ่ จนแทบจะไม่ยอมเสียเวลาในการตรึกตรอง ใจเขาใจเรา ทำอะไรโดยไม่สนผลกระทบจะเกิดกับใคร จะเป็นคนรู้จักหรือไม่ก็ตาม ยิ่งคนสนิทก็ยิ่งไม่สนไม่แคร์ เพราะถือว่าคนรู้จักจะทำอะไรก็ได้ด้วยความเคยชิน จะตรงกันข้ามกับคนที่รู้จักเอาใจเขาใส่ใจเรา ที่เมื่อจะทำอะไรจะเสียเวลาใคร่ครวญว่าสิ่งที่ตนจะทำนั้นส่งผลกระทบกับใครหรือไม่ เกรงใจต่อคนที่ไม่รู้จัก ยิ่งคนสนิทยิ่งให้ความเกรงใจ เพราะไม่อยากต้องผิดน้ำใจกัน จนอาจเสียความรู้สึกดี ๆ ต่อกันได้
ซึ่งเหตุที่ทำให้สังคมดูไม่น่าอยู่ เพราะมีคนที่ไม่สนใจใครจะเป็นอย่างไร หรือใครจะรู้สึกอย่างไร เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อยากจะทำอะไรก็ทำ จะพูด จะด่า หรือจะเกรียนคีย์บอร์ด บูลลี่ใครก็ได้ แสดงความเห็นโดยไม่แคร์ว่าใครจะรู้สึกอย่างไร จนมีเหตุการณ์รุนแรง กลายเป็นโศกนาฎกรรมมาแล้วมากมาย
ดังนั้น หากเราหยุดคิดก่อนจะพูด ก่อนจะทำ ก่อนจะพิมพ์ หากเราเจอสถานการณ์แบบที่เรากำลังจะทำจากคนอื่นบ้าง เราจะรู้สึกอย่างไร เป็นการเอาใจเขาใส่ใจเรา ก็จะช่วยยับยั้งการกระทำ toxic ได้มากขึ้น สังคมก็จะน่าอยู่ขึ้น
บทเรียนที่ 2 มีมารยาท
มารยาท ซึ่งเป็นข้อพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่เดี๋ยวนี้ คนมีมารยาท กลายเป็นคนส่วนน้อยในสังคมไปเสียแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่หลงลืมคำว่ามารยาทไปจากสารบบชีวิตแทบจะหมดสิ้น หรือบางคนอาจรู้ว่ามารยาททางสังคมมีอะไรบ้าง แต่กลับไม่เคยนำมาใช้เลยเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น ดูได้ง่าย ๆ จากบทเรียนข้อที่ผ่านมา การด่าคนด้วยคำพูดหรือพิมพ์ด่าคนที่ไม่รู้จักกันได้ง่าย ๆ เพียงเพราะไม่พอใจเท่านั้น
สังคมในโลกความจริงและสังคมในโลกโซเซียลสมัยนี้ ต่างพร้อมใจกันโยน มารยาท ทิ้งลงถังขยะ แล้วเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง หรือยกตัวเองเป็นบรรทัดฐาน แล้วพร้อมจะตัดสินคนอื่นโดยไม่แคร์ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นส่งผลกระทบกับใครบ้าง และจะเกิดผลตามมาอย่างไร หลายครั้งที่เราได้ยินข่าวการฆ่าตัวตายของใครหลายคน อันเนื่องมาจากความเครียด และไม่สามารถยอมรับการถูกบูลลี่ หรือการโดน Hate speech ซึ่งเป็นคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง จนมีอาการป่วยทางจิต กลายเป็นโรคซึมเศร้า จนหาทางหนีด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่เลือกเพศและวัยหรือสถานที่มุมใดของโลก และก็ไม่เคยมีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบกับผลจากการไร้มารยาทของตนเลยสักคน
ดังนั้น หากเราทุกคนรักษามารยาทพื้นฐานที่ควรพึงจะมี ไม่ว่าจะในที่บ้าน ที่ทำงาน ที่โรงเรียน รวมไปถึงการมีมารยาทในการใช้โซเซียล ต่อให้รู้สึกขัดใจหรือไม่ชอบในการกระทำของใคร เราก็แค่สะกดคำว่า มารยาท เตือนตัวเองไว้เสมอ ไม่ต้องไปสนใจ มองข้ามและไปโฟกัสสิ่งอื่นแทน หากทุกคนทำได้เช่นนี้ ก็จะช่วยลด toxicity ได้มากเลยทีเดียว
บทเรียนที่ 3 โลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา
คนส่วนใหญ่จะสำคัญตนเป็นศูนย์กลาง คิดว่าตนเองคือตัวเอกของทุกสิ่ง และมักจะคิดว่าทุกคนควรจะคิดเหมือนตน หรือเป็นไปอย่างที่ตนต้องการ เพราะเข้าใจว่าความคิดของตนนั้นถูกต้องที่สุด ในความเป็นจริงนั้น ทุกคนต่างก็ล้วนต้องการเป็นตัวเอก เป็นศูนย์กลางที่มีความสำคัญของระบบต่าง ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นไม่ได้เลยว่า เราจะเป็นศูนย์กลางของคนอื่น สามารถบงการให้ทุกคนทำหรือเป็นไปตามที่ตนคิด
ทุกคนจึงทำได้เพียงแค่เป็นศูนย์กลางของตนเอง จัดการระบบความคิด คำพูด และการกระทำของตนเองเท่านั้น แต่ถ้าในเป็นกรณีคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือมีความสนิทสนมกัน เราสามารถทำได้ด้วยการแนะนำและชี้แนวทางเท่านั้น ส่วนเขาจะทำหรือไม่อย่างไร ให้เป็นการตัดสินใจของเขาเอง เพราะทุกคนต้องการมีโลกของตัวเองทั้งนั้น อย่าไปยัดเยียดโลกของตัวเองให้คนอื่น เพราะโลกไม่ได้หมุนรอบตัวเรา หากยอมรับในข้อนี้ได้ ทุกคนในสังคมก็จะมีความเกรงใจและให้เกียรติต่อกันมากขึ้น
บทเรียนที่ 4 “การให้”
คนไทยขึ้นชื่อว่า “มีน้ำใจ” มาตั้งแต่สมัยโบราณ หน้าบ้านทุกหลังมีน้ำใส่ตุ่มให้คนผ่านไปมาได้ตักดื่มกับกระหาย ใครมาถึงเรือนชานต้อนรับขับสู้ด้วยการให้ข้าวปลาอาหารเต็มที่ แค่คนเดินผ่านบ้านยังชวนกินข้าว หรือจะไปเยี่ยมไปหาใครต้องมีของติดมือไปให้ไปฝาก แบ่งกันให้แบ่งกันรับ มีน้ำใจให้กันเสมอมา ตัดภาพมาปัจจุบัน “การให้” สำหรับหลาย ๆ คนกลายเป็นการเสียเปรียบ เสียประโยชน์ เสียเวลา และเป็นสิ่งไม่จำเป็นสักเท่าไรในสังคม
ปกติคนเราจะรู้จักการเป็นผู้รับเพราะเป็นสัญชาติญาณโดยไม่ต้องมีใครสอน แต่เมื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมมีแต่ผู้รับ คิดแต่จะได้อยู่ฝ่ายเดียว ทุกคนเห็นแต่ประโยชน์ตัวเองเท่านั้น โดยปราศจากการให้ หรือค่านิยมสังคม การให้ คือ การเสียเปรียบ แล้วรูปแบบการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้จะเป็นอย่างไร ใครพอจะนึกออกบ้าง
เพราะที่โลกนี้ยังคงอยู่ได้ เพราะยังมีคำว่า “ให้” กันอยู่บ้าง แม้ว่าจะเป็นบางโอกาส หรือจำนวนของผู้ให้จะน้อยกว่าผู้รับก็ตาม แต่ถ้าเมื่อไร ทุกคนเปลี่ยนจากการรับฝ่ายเดียว เป็นการให้ในทุก ๆ โอกาส ที่สามารถทำได้ เมื่อได้ให้บ่อย ๆ จนเป็นนิสัย แล้วจะรู้ได้ด้วยตนเองว่า การให้ สามารถสร้างความสุขให้กับเราได้ และยังได้ฝึกจิตไม่ยึดติดกับสิ่งของที่มีอีกด้วย
บทเรียนที่ 5 ตนเป็นที่พึ่งของตน
“น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” คำสุภาษิตไทยที่สอนให้รู้จักเป็นที่พึ่งพาซึ่งกันและกัน และมันเป็นสิ่งดีงามสำหรับการช่วยเหลือต่อกัน แต่เราไม่สามารถพึ่งคนอื่นได้ตลอดเวลา และไม่ควรพึ่งคนอื่นในทุก ๆ เรื่อง เพราะมีบางเวลาที่เราไม่สามารถหาใครพึ่งพาได้ และในบางเรื่อง ในบางเวลา ไม่ควรเอาแต่ยึดโยงคนอื่น เราจึงต้องหัดพึ่งตนเองให้มากที่สุด เพื่อฝึกตนให้สามารถผ่านอุปสรรคไปได้แม้ในช่วงเวลาที่ไม่มีใครให้พึ่งพา ไม่ว่าจะหรือเรื่องเล็กน้อย ตลอดไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ ตั้งแต่ การถือของเอง การเปิดขวดน้ำเอง ไปจนถึง การคิด การตัดสินใจ หรือการวางแผนชีวิต
อย่าเอาแต่สะกดคำว่า “พึ่งคนอื่น” อยู่ในความคิดตลอดเวลาจนกลายเป็นนิสัย ที่แม้แต่จะทำอะไร จะกินอะไรก็ได้แต่ใช้คำว่า “แล้วแต่..” เพราะทำบ่อย ๆ จะเคยตัว กลายเป็นทำอะไรเองไม่ได้ คิดและตัดสินใจเองไม่ได้ การพึ่งพาคนอื่น ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรใช้ให้เหมาะสมและพอดี เปลี่ยนจากคำว่า “พึ่งคนอื่นเสมอ” มาเป็น อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ให้มากกว่า และเมื่อเราพึ่งตนเองได้ ก็จะสามารถเป็นที่ไว้วางใจให้คนอื่นพึ่งพาได้เช่นกัน
บทเรียนที่ 6 “ลองทำ” ก่อนสรุปว่า “ทำไม่ได้”
หากจะทำสิ่งใดที่ไม่เคยทำหรือไม่เคยเรียนรู้มาก่อน หรือเมื่อคิดจะทำสิ่งใด ให้ลงมือลองทำดูก่อน อย่ารีบด่วนสรุปว่าทำไม่ได้แน่ ๆ จนต้องเอาแต่พึ่งคนอื่นอยู่ร่ำไป เหมือนเด็กน้อยที่ร้องเรียกหาแม่ให้ช่วยอยู่ตลอดเวลา การได้ลงมือลองทำ จะได้รู้ว่าตนเองสามารถทำได้หรือไม่ได้ หรือทำได้มากน้อยแค่ไหน หากมีส่วนไหนที่สุดความสามารถ หรือลองทำแล้วแต่ทำไม่ได้จริง ๆ จึงค่อยยอมรับว่าตนทำไม่ได้ เพราะเป็นธรรมดาที่ทุกคนจะมีขีดจำกัดในสิ่งที่ทำได้และเรื่องที่ทำไม่ได้ แต่นั่นควรจะเป็นหลังจากได้ลองลงมือทำเสียก่อน ยกเว้นเสียว่าเป็นเรื่องที่รู้โดยแน่ชัดว่าเกินความสามารถของตนจริง ๆ
แม้ว่าข้อดีของการไม่ทำอะไรเลย คือ ไม่เสี่ยงในทุก ๆ ด้าน แต่ข้อเสียคือ พลาดโอกาสประสบความสำเร็จ ในขณะที่ข้อเสียของการได้ลงมือลองทำ คือ มีความเสี่ยง แต่ข้อดีของการลงมือทำ คือ ได้ลองทำแล้ว ซึ่งอาจล้มเหลว หรือ ประสบความสำเร็จ โดยความแตกต่างระหว่างคนที่ลองลงมือทำ กับ คนที่ไม่ยอมลองทำเลย คือ “โอกาสที่จะประสบความสำเร็จ” ดังนั้น จงอย่าลืมว่า “ไม่มีความสำเร็จใดเกิดขึ้นโดยไม่ลงมือทำ”
บทเรียนข้อที่ 7 รวยเป็นเศรษฐีก็ซื้อเวลาไม่ได้
3 สิ่งในโลกนี้ ที่ไม่ว่าเป็นใคร มียศ มีตำแหน่ง มีเงินทองมากมายแค่ไหน ก็ไม่สามารถซื้อได้ นั่นคือ “คำพูด” , “โอกาส” และ “เวลา” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้พูด “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้…” ซึ่งมักจะพูดหลังจากที่ทำอะไรผิดพลาด หรือได้พลาดโอกาสที่ดีไปแล้ว ทำให้ต้องการจะย้อนกลับไปเพื่อแก้ไข หรือคว้าโอกาสที่ได้ปล่อยให้หลุดมือไปจนต้องมานั่งเสียดาย
แต่เราทุกคนต่างรู้ดีว่า เวลา ไม่มีการย้อนกลับ มีแต่จะเดินไปข้างหน้า และเวลาก็ทำหน้าที่ของมันอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะลงมือทำอะไรสักอย่าง ควรให้ลองลงมือทำเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียดายและเสียใจทีหลัง เพราะย้อนกลับไปไม่ได้อีกแล้ว รวมไปถึงในทุก ๆ เรื่องของชีวิต ตั้งแต่ คำพูด ที่เมื่อพูดออกไปแล้ว ก็ไม่สามารถย้อนเวลานำคำพูดนั้นกลับคืนมาได้ ดังนั้น ก่อนจะพูดอะไรออกไป ให้นึกถึงใจเขาใจเรา หากเราพูดแบบนี้ออกไป ถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกอย่างไร คิดก่อนจะพูด เพราะคำพูดของเราอาจทำร้ายคนฟังโดยที่เราอาจไม่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือแม้แต่คนไม่รู้จักก็ตาม
รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของครอบครัว คนรัก เพื่อน เจ้านาย-ลูกจ้าง หรือคนร่วมงาน ควรพูดดีต่อกัน รักษาน้ำใจกันไว้จะดีกว่า เพราะเมื่อวันหนึ่งคุณสูญเสียเขาไป แล้วจะมานึกย้อนวันเวลาให้เขากลับมา … ก็อาจเป็นไปไม่ได้แล้ว
7 บทเรียน ที่ไม่ได้มีสอนในภาควิชาการ แต่จะได้รับจากการอบรมบ่มนิสัยจากคนในครอบครัว และการเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ชีวิต โดยความช้า-เร็ว ในการเรียนรู้ของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนเรียนรู้ได้รวดเร็ว บางคนอาจเรียนรู้ได้ช้าหน่อย ในขณะที่บางคนไม่ยอมที่จะเรียนรู้อะไรทั้งนั้น แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาของชีวิตทุกคนจะต้องได้เจอเหตุการณ์มากมาย จนได้เรียนรู้และกลายเป็นประสบการณ์ชีวิต และเชื่อเถอะว่าหากทุกคนมีทั้ง 7 ข้อนี้อยู่ในชีวิต สังคมจะน่าอยู่ขึ้นอีกมาก และจะไม่มีใครโยนความผิดเพื่อโทษว่า “โลกป่วย” อีกต่อไป