เซอร์กิตเบรกเกอร์
เซอร์กิตเบรกเกอร์ คือ อุปกรณ์ป้องกันความเสียหายของวงจรไฟฟ้าจากกระแสไฟฟ้าเกิน หรือไฟฟ้าลัดวงจร ใช้เป็นตัวเปิด – ปิด ระบบไฟ และตัดกระแสไฟ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับสายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ช่วยลดโอกาสการเกิดความเสียหายต่อสายไฟ มอเตอร์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ภายในบ้านเรือนและอาคารทั่วไป
โดยปกติ เบรกเกอร์ หรือ Circuit Breaker หน้าที่หลัก ทำงานผ่านความร้อนและสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อพบความผิดปกติของระบบไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในวงจร เช่น กระแสไฟรั่ว กระแสไฟเกิน เบรกเกอร์จะทำการตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากไฟฟ้าลัดวงจร จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ และจะทำการปิดหรือต่อวงจรได้ทันที เมื่อระบบไฟฟ้ากลับสู่สภาวะปกติ แตกต่างจากฟิวส์ที่ต้องเปลี่ยนฟิวส์ใหม่ทุกครั้งหลังจากที่ทำการตัดไฟ
เซอร์กิตเบรกเกอร์มีกี่ขนาด
เซอร์กิตเบรกเกอร์มีหลายแบบ หลายขนาด เมื่อแบ่งตามแรงพิกัดแรงดัน สามารถแบ่งได้ 3 ขนาด ได้แก่
1. เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าต่ำ (Low Voltage Circuit Breakers)
เซอร์กิตเบรกเกอร์ที่นิยมใช้สำหรับที่อยู่อาศัยทั่วไป กิจการเชิงพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน เป็นเบรกเกอร์ที่มีแรงดันน้อยกว่า 1,000 V AC ซึ่งนิยมติดตั้งในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต โหลดเซ็นเตอร์ หรือ ตู้ DB โดยส่วนใหญ่จะเป็นตู้ที่เปิดออกได้ เพื่อจะได้ถอดและเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องถอดสวิตซ์ออก สามารถแบ่งออกได้ 4 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่
- MCB (Miniature Circuit Breakers) ลูกสกิต หรือ เบรกเกอร์ลูกย่อย คือ เบรกเกอร์ขนาดเล็ก ใช้ในอาคารที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 100A โดยมีขนาดตั้งแต่ 1 , 2 , 3 และ 4 Pole ซี่งเป็นประเภทเบรกเกอร์ที่ในบ้านพักอาศัยนิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากสามารถใช้ได้กับระบบกระแสไฟฟ้าทั้งแบบ 1 เฟส และ 3 เฟส ซึ่งแบบที่นิยมใช้จะมีด้วย 2 ชนิด คือ Plug-on ที่เพียงแค่ดันตัวเบรกเกอร์เข้ากรอบที่เตรียมไว้ก็สามารถติดตั้งได้ทันที และอีกแบบคือ Din-rail ที่จะต้องใช้เครื่องมือช่างเพื่อประกอบ และใช้ติดตั้งร่วมกับ Consumer unit ที่เป็นแผงจ่ายไฟฟ้าที่อยู่ตามห้อง หรือแผงจ่ายไฟฟ้าย่อย (Load center)
- MCCB (Moulded Case Circuit Breakers) เป็นเบรกเกอร์สำหรับใช้เปิด-ปิดวงจรไฟฟ้า เมื่อมีกระแสไฟฟ้าเกิน หรือไฟฟ้าลัดวงจร ใช้กับกระแสไฟ 100A ขึ้นไป นิยมใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม
- RCDs (Residual Current Devices) เบรกเกอร์กันดูด เป็นอุปกรณ์เซฟตี้ สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า เมื่อมีกระแสไฟรั่วหรือไฟลัดวงจร เพื่อป้องกันไฟดูด ไฟช็อต ใช้กับกระแสไฟตั้งแต่ 100 – 2,300A แรงดันไม่เกิน 1,000V นิยมใช้ในตู้ไฟฟ้า Local panel โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่ มีให้เลือกใช้งาน 3 ชนิดด้วยกัน ได้แก่
- RCBO (ป้องกันไฟดูด ไฟช็อต) จะมีการระบุค่า KA (ค่าความทนต่อการลัดวงจร) มาให้
- RCCB (ตัดไฟเมื่อมีกระแสรั่วไหล) ตัดกระแสไฟเกินและไฟรั่วไม่ได้ ไม่ระบุค่า KA
- ELCB (ป้องกันไฟดูด) ไม่ป้องกันไฟเกิน ติดตั้งแยกต่างหาก มักใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ปุ่มเทส
- ACB (Air Circuit Breakers) เป็นเบรกเกอร์ขนาดใหญ่สุดของเซอร์กิตเบรกเกอร์ไฟฟ้า Low Voltage เป็นชนิดที่สามารถทนกระแสไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 265A และสูงสุดถึง 6,300A มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ตรวจจับและวิเคราะห์กระแสไฟ ตัดกระแสไฟได้อัตโนมัติ เมื่อมีความผิดปกติของไฟฟ้า นิยมใช้เป็นเมนเบรกเกอร์ติดตั้งในตู้ MDB ในโรงงาน สามารถเพิ่มอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เข้าไปได้ตามที่ต้องการ แต่ต้องมีการรักษาและดูแลอย่างต่อเนื่อง
2. เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าปานกลาง (Medium Voltage Circuit Breakers)
เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าปานกลาง เป็นกลุ่มที่ประกอบเข้าในตู้เหล็กสวิตซ์ขนาดใหญ่ Metal – enclosed switchgear lineups สำหรับใช้ในอาคาร หรือใช้เป็นส่วนติดตั้งภายนอกในสถานีย่อย อย่างแอร์เซอร์กิตเบรกเกอร์ (ACB) ที่ให้ระบบทำงานด้วยการอัดน้ำมันเข้าไป แต่เมื่อมีการเปลี่ยนมาใช้เบรกเกอร์สูญญากาศ (Vacuum Circuit Breakers) ซึ่งแรงดันไฟฟ้าประมาณ 40.5 kV (kV หน่วยแรงดันไฟฟ้าที่คิดเป็นพันโวลต์) เบรกเกอร์ชนิดนี้มักใช้เซ็นเซอร์กระแสสลับแทนการใช้แม่เหล็กหรือเซ็นเซอร์วัดความร้อน การทำงานของเบรกเกอร์จะรีเลย์ตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ผ่านหม้อแปลงไฟฟ้า ได้การรับรองจากมาตรฐาน IEC 62271
3. เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าสูง (High Voltage Circuit Breakers)
เซอร์กิตเบรกเกอร์แรงดันไฟฟ้าสูง สำหรับวงจรไฟฟ้าขนาดใหญ่ อย่างการจ่ายไฟให้ตัวเมือง เนื่องจากมีขนาดแรงดันไฟ 72.5 kV หรือสูงกว่า เซอร์กิตชนิดนี้จะทำงานด้วยขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีรีเลย์ตรวจจับกระแสไฟผ่านหม้อแปลงกระแสไฟฟ้าอีกที ช่วยป้องกันอุปกรณ์จากการโหลดเกินหรือกระแสไฟรั่วลงดินได้
เมนเบรกเกอร์
เมนเบรกเกอร์ คือ เบรกเกอร์ที่ควบคุม และ ตัดวงจรทั้งหมดของเบรกเกอร์ย่อย ติดตั้งอยู่ในตู้คอนซูมเมอร์ ทำหน้าที่ตัดกระแสไฟลัดวงจร เมื่อใช้ไฟเกินกำลัง และตัดเมื่อไฟดูด หรือไฟรั่ว
การตัดวงจรไฟฟ้าทั้งหมดของ เบรกเกอร์ย่อยจะขึ้นอยู่กับว่าใช้ขนาดกี่แอมป์ เช่น เมนเบรกเกอร์ใช้ขนาด 20A เบรกเกอร์ย่อย ไม่ควรใช้เกิน 20A ของเบรกเกอร์เมน เป็นต้น และเมื่อจะเปลี่ยนเมนเบรกเกอร์ต้องทำการตัดกระแสไฟฟ้าก่อนเพื่อความปลอดภัย
หากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้อเซอร์กิตเบรกเกอร์ สามารถติดต่อตัวแทนจำหน่ายบริษัทชั้นนำระดับโลก SQD Group อุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูง-แรงต่ำมาตรฐานสากล จำหน่ายครบวงจร พร้อมด้วยทีมงานมืออาชีพ คอยให้คำปรึกษาและบริการทุกระดับอย่างเป็นมิตร มั่นใจได้ถึงความปลอดภัย อย่าลังเลที่จะติดต่อสอบถามหรือขอคำปรึกษา เรายินดีและพร้อมให้บริการโดยวิศวกรไฟฟ้ามืออาชีพทุกท่าน