หลังจากที่บริษัท ไลน์ คอมพานี จำกัด หรือที่เรารู้จักกันดีใน แอปพลิเคชัน ไลน์ ได้ร่วมมือกันกับ กรมอุตุนิยมวิทยา และ ปภ. หรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงนาม MOU เปิดตัวบัญชีทางการสำหรับแจ้งภัยพิบัติและอัปเดตข้อมูล ในการแจ้งเตือนให้กับประชาชน ในชื่อ Line Alert เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา แต่ถึงแม้ว่าจะผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่อาจมีหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าแพลตฟอร์ม Line Alert มีประโยชน์ในด้านใด และให้บริการในเรื่องอะไรบ้าง เราจะพาทุกคนมาดูแพลตฟอร์มที่ว่านี้ด้วยกันค่ะ
สามารถแอดบัญชีไลน์อะเลิร์ทที่ @linealert และเมื่อทำการเพิ่มเพื่อนเรียบร้อย จะเข้าสู่หน้าแพลตฟอร์ม ซึ่งจะมีหน้าต่าง ดังนี้ อัปเดตภัยพิบัติ เช็กพื้นที่เสี่ยง วิธีการป้องกันตัวเอง โรงพยาบาลใกล้เคียง รวมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน ให้เลือกคลิก และในส่วนของหน้าต่าง บริจาค ยังไม่เปิดใช้เป็นทางการในขณะนี้ เรามาดูกันหน่อยว่ามีบริการอะไรกันบ้าง
Line Alert ให้บริการอะไรบ้าง

บริการอัพเดตด้านภัยพิบัติ
คลิกที่หน้าต่างนี้ หากมีภัยพิบัติ ป๊อบอัพจะเด้งเตือนพร้อมกับรายละเอียดข้อมูล แต่ถ้าไม่มีภัยใด ๆ จะไม่มีป๊อบอัพเด้งขึ้นมาหลังจากที่เราคลิกกดดู
เช็กพื้นที่เสี่ยง RISK AREA
เมื่อคลิกป๊อบอัตตัวนี้ ระบบจะขึ้นหน้าต่างร้องขอสิทธิ์เข้าถึง ซึ่งเราสามารถเลือกกด อนุญาต หรือ ยกเลิก ตามความสมัครใจ หากกดอนุญาต ก็จะพาไปยังหน้าอื่น ๆ ต่อไป แต่ถ้ากดยกเลิก มันก็จะเด้งกลับไปยังหน้าหลักตามเดิม
รวมเบอร์ติดต่อฉุกเฉิน มีดังนี้
- แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย 191
- แจ้งเหตุเพลิงไหม้ 199
- แจ้งอุบัติเหตุทางน้ำ 1196
- อุบัติเหตุทางด่วน 1543
- ตำรวจทางหลวง 1193
- แพทย์ฉุกเฉิน 1669
- กู้ชีพวชิระพยาบาล 1554
- โรงพยาบาลตำรวจ 1691
- การไฟฟ้านครหลวง 1130
- การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1129
- ร่วมด้วยช่วยกัน 1677
- ข้อมูลการจราจร 1197

โรงพยาบาลใกล้เคียง
เมื่อคลิกป๊อบอัพโรงพยาบาลใกล้เคียง ระบบจะพาไปยังหน้าแมพ แสดงแผนที่ประเทศไทย พร้อมหมุดและชื่อของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เรา
การป้องกันตัวเอง
ป๊อบอัพนี้ จะมีหน้าต่างแนะวิธีการป้องกันตัวเองจากน้ำท่วม ไฟไหม้ พายุ และ แผ่นดินไหว

1. “การป้องกันตัวจากน้ำท่วม” จะมีข้อแนะนำ การเตรียมตัวก่อนน้ำท่วม และ ข้อควรทำเมื่อน้ำท่วม
ก่อนน้ำท่วม : เตรียมพร้อม ติดตาม เฝ้าระวัง
- สังเกตระดับน้ำ และ ติดตามประกาศแจ้งเตือนต่าง ๆ
- เตรียมยกของขึ้นที่สูง
- หากมีการแจ้งอพยพ ให้รีบอพยพทันที
- เตรียมอพยพสมาชิกในบ้านและสัตว์เลี้ยงไปที่ปลอดภัย
เมื่อน้ำท่วม : แจ้งเหตุอุทกภัย 24 ชั่วโมง ได้ที่ สายด่วนนิรภัย 1784 หรือ ไลน์ @1784ddpm
- รีบแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
- ระมัดระวังการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า
- ดูแลบุตรหลานไม่ให้ไปเล่นน้ำในพื้นที่น้ำท่วม น้ำไหลหลาก
- เลี่ยงการขับรถไปยังพื้นที่หรือเส้นที่น้ำท่วม

2. “การป้องกันตัวจากไฟไหม้” จะมีวิธีอพยพออกจากอาคารเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย ดังนี้
- ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิด หากมีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไปอย่างเด็ดขาด เพราะเพลิงจะลุกลามเข้ามาในห้อง ควรปิดห้องให้สนิท แล้วใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้าข้างในได้ แต่ถ้าหากลูกบิดไม่ร้อน ให้เปิดออกไปช้า ๆ และอพยพไปตามเส้นทางหนีไฟ
- หมอบคลานต่ำไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย เพราะอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือพื้นในระดับไม่เกิน 1 ฟุต เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด
- ไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลัษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงพุ่งขึ้นมาปกคลุม เสี่ยงต่อการสำลักควันไฟและถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้
- หลีกเลี่ยงการสูดควันไฟ โดยใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์มาครอบศีรษะ ป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย จนทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

3. “การป้องกันตัวจากพายุ” วิธีรับมือพายุ ลดเสี่ยงอันตราย
เตรียมพร้อมรับมือ
- ติดตามพยากรณ์อากาศ
- ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้มั่นคง แข็งแรง
- จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด
- ตัดแต่งกิ่งไม้และต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น
- พบเห็นเสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาไม่แข็งแรงให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การปฏิบัติตนให้ปลอดภัย
- กรณีอยู่ในอาคาร : 1.)ไม่ควรอยู่บริเวณดาดฟ้าหรือระเบียง เพราะเสี่ยงถูกฟ้าผ่า 2.) ปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด ป้องกันอันตรายจากลมแรง 3.) งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือ ป้องกันการถูกฟ้าผ่า
- กรณีอยู่กลางแจ้ง : 1.) อยู่ให้ห่างจากสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ป้องกันการถูกล้มทับ 2.) ไม่อยู่ใกล้วัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า 3.) งดใช้เครื่งอมือสื่อสาร และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ลดเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า

4. “การป้องกันตัวจากแผ่นดินไหว” แนะนำการปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว
เมื่ออยู่ในอาคาร
- ปฏิบัติตามหลัก หมอบ ป้อง เกาะ โดยหมอบใต้โต๊ะหรือหลบในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง พร้อมยึดเกาะโต๊ะหรือที่กำบังและเคลื่อนตัวไปตามแรงสั่นสะเทือน
- ห้ามใช้ลิฟท์ เพราะหากไฟฟ้าดับ จะติดค้างภายในลิฟต์ ทำให้ขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต
- หากไม่มีที่หลบกำบัง ให้หมอบราบกับพืันหรือก้มต่ำ ใช้แขนหรือมือกำบังศีรษะและลำคอ เพื่อป้องกันสิ่งของตกใส่
- ไม่หลบในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เช่น บริเวณใต้คาน ใกล้เสา ระเบียง ประตู กระจก หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มทับได้
- รอแผ่นดินไหวสงบ ค่อยออกจากอาคาร เพราะแรงสั่นสะเทือนสามารถทำให้สิ่งของหล่นใส่ได้
เมื่ออยู่นอกอาคาร
- อยู่ห่างจากสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นไม้ เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา กำแพง เพราะอาจพังถล่มหรือล้มทับได้
- จอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่อยู่ใต้สะพานหรือทางด่วน ไม่อยู่ใกล้ป้ายจราจร ป้ายโฆษณา หรือเสาไฟฟ้า รอจนแผ่นดินไหวสงบ จึงค่อยขับรถไปต่อ
นับว่าเป็นอีกแพลตฟอร์มที่มีประโยชน์เลยทีเดียว ช่วยลดความเสี่ยงและอัตราการสูญเสียจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน